เมนู

8. ทุติยสมยสูตร


ว่าด้วยเวลาเข้าพบผู้เจริญภาวนา 6


[299] สมัยหนึ่ง ภิกษุชั้นเถระหลายรูป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน
ใกล้เมืองพาราณสี ครั้งนั้นแล เมื่อภิกษุชั้นเถระเหล่านั้นกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่โรงฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่างดังนี้ว่า
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยไหนหนอแล ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญ
ภาวนาทางใจ.
เมื่อกล่าวกันอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงได้กล่าวกะภิกษุชั้นเถระ
ทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจกลับ
จากบิณฑบาต ภายหลังภัต ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้
เฉพาะหน้า สมัยนั้น ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ.
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า
ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนา-
ทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต
ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น
แม้ความเหน็ดเหนื่อยเพราะการเที่ยวไปเพื่อการบิณฑบาต แม้ความเหน็ด
เหนื่อยเพราะฉันอาหาร ของภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ก็ยังไม่สงบระงับ
ฉะนั้น สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจออกจากที่เร้นในเวลาเย็น นั่งที่ริมเงาวิหาร
ด้านหลัง คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น เป็นสมัย
ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ.

เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า
ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนา-
ทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น นั่งที่
ร่มเงาวิหารด้านหลัง คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น
สมาธินิมิตใด ที่ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ได้ทำไว้ในใจในกลางวัน
สมาธินิมิตนั้นก็ยังฟุ้งซ่านอยู่ ฉะนั้น สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไป
พบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจลุกขึ้นใน
เวลาเช้ามืดแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น
เป็นสมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ.
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้น
ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญ
ภาวนาทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจลุกขึ้นในเวลาเช้ามืดแล้ว
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น กายของภิกษุผู้
เจริญภาวนาทางใจนั้นก็ยังตั้งอยู่ในโอชา (มีโอชารสแห่งอาหารแผ่ซ่านไป-
ทั่วตัว) ความสบายย่อมมีแก่ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น เพื่อทำไว้ในใจซึ่ง
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฉะนั้น สมัยนั้น เป็นสมัยที่ควรเพื่อเข้า
ไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ.
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกะภิกษุ
ชั้นเถระทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายทั้งหลาย ข้อนั้นผมได้สดับรับมาเฉพาะ
พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนภิกษุ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ
ผู้เจริญภาวนาทางใจ 6 ประการนี้ 6 ประการเป็นไฉน ? ดูก่อนภิกษุ
สมัยใด ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำ
อยู่ และเธอย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออก

แห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนา-
ทางใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ผมมีใจถูกกามราคะกลุ้มรุม
ถูกถามราคะครอบงำอยู่ และไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็น
เครื่องสลัดออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ดีแล้ว ขอท่านผู้มีอายุจงแสดง
ธรรมเพื่อละกามราคะแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ย่อมแสดงธรรมเพื่อ
ละกามราคะแก่เธอ ดูก่อนภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ 1 ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ
ผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯลฯ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนั้นผมได้สดับรับ
มาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนภิกษุ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไป
พบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ มี 6 ประการนี้แล.
จบทุติยสมยสูตรที่ 8

อรรถกถาทุติยสมยสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในทุติยสมยสูตรที่ 8 ดังต่อไปนี้:-
บทว่า มณฺฑลมาเฬ ได้แก่ในโรงฉัน. บทว่า จาริตฺตกิลมโต ได้แก่
ความลำบากอันเกิดขึ้น จากการเที่ยวบิณฑบาต. บทว่า ภตฺตกิลมโต ได้
แก่ความกระวนกระวายที่เกิดจากภัต. บทว่า วิหารปจฺฉายายํ ได้แก่ที่เงาร่ม
ท้ายวิหาร. บทว่า ยเทวสฺส ทิวา สมาธินิมิตฺตํ มนสิกตํ โหต
ความว่า ในสมัยนั้น สมถนิมิตนั่นแหละจะสัญจรไปในมโนทวารของภิกษุผู้
นั่งอยู่ในที่พักกลางวัน. บทว่า โอชฏฺฐายี ความว่า สถิต คือ ประดิษฐาน
อยู่แห่งโอชะ. บทว่า ผาสุกสฺส โหติ ความว่า เธอมีความผาสุก. บทว่า
สมฺมุขา ความว่า ในที่ต่อหน้าผู้บอก. บทว่า สุตํ ความว่า ได้ฟังด้วย
โสตธาตุ, บทว่า ปฏิคฺคหิตํ ความว่า ประคองได้ด้วยจิต.
จบอรรถกถาทุติยสมยสูตรที่ 8